รู้จักกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง



ความเป็นมา
"กองทุนหมู่บ้าน" ไม่ใช่เงิน !"กองทุนหมู่บ้าน" เป็นอะไรที่ใหญ่โต และมีคุณค่ายิ่งกว่าเงินมากนัก
กองทุนนี้ประกอบด้วย ทุนที่เป็นคนแต่ละคน ทุนทางสังคมที่ถักทอคนแต่ละคนมาเป็นกลุ่มคนหรือสังคม ทุนทางวัฒนธรรม คือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มคนที่บรรสานสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ทุนทางศีลธรรม หมายถึงความถูกต้องแห่งการอยู่ร่วมกัน เช่น ความเอื้ออาทรต่อกัน ความเชื่อถือและไว้วางใจกันได้ ความสุจริต ความเสียสละ ทุนทางทรัพยากร เช่น ดิน น้ำ ป่า อากาศ ไร่นา วัวควาย ที่มีการอนุรักษ์ มีการใช้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ทุนทางปัญญา ได้แก่การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติและนำเอาความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน และความรู้จากภายนอกชุมชน มาสังเคราะห์เป็นปัญญาและการจัดการเพื่อให้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และระหว่างชุมชนกับโลกภายนอกชุมชน เป็นไปอย่างรักษาความสมดุลไว้ได้ เพื่อความเป็นปรกติและยั่งยืน ทุนที่เป็นเงิน อันช่วยกันออมไว้เพื่อให้กระบวนการออมและการจัดการรวมทั้งตัวเงิน เป็นเครื่องกระตุ้นและส่งเสริมสร้างทุนที่ไม่ใช่เงิน
ทุนที่ไม่ใช่เงิน คือ คน สังคม วัฒนธรรม ศีลธรรม ทรัพยากร และ ปัญญา ถูกถักทอเข้าด้วยกัน "คุณค่าที่ไม่ใช่เงิน" (nonmonetary values) คือความใกล้ชิด ความเอื้ออาทรต่อกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความสุจริต ความเสียสละ คุณค่าที่ไม่ใช่เงินนี้มีพลังผูกพันเข้าไว้ด้วยกัน คุณค่านี้อาจเรียกว่าเป็น "ธรรมะแห่งการถักทอ"

ชุมชนจะก่อตัวขึ้นมาเองด้วย "ธรรมะแห่งการถักทอ" งอกงามและเติบโตไปโดยธรรมชาติ เป็นองค์กรโดยธรรม องค์กรโดยธรรมทำให้ทุกคนมีความสุขและสร้างสรรค์อย่างยิ่ง ตรงกันข้ามกับองค์กรโดยอำนาจที่ใช้กันโดยทั่วไปไม่ว่าในทางการเมือง ราชการ การศึกษา ศาสนา หรือธุรกิจ ซึ่งบีบคั้น ไม่สร้างสรรค์ และก่อให้เกิดความเครียด

อำนาจและเงินที่เข้าทำลาย "คุณค่าที่ไม่ใช่เงิน" และทำลายความเข้มแข็งของชุมชน หรือทำให้ความเป็นชุมชนไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเข้าใจใช้เงินให้ไปหนุนคุณค่าที่ไม่ใช่เงินเงินก็มีประโยชน์ในการส่งเสริมความเข้มแข็ง ของชุมชนได้
ผู้ที่เข้าไปทำงานชุมชนจะมีแต่เจตนาดีอย่างเดียวไม่ได้ทั่วโลกประสบความล้มเหลวในการแก้ไขความยากจนของคนชนบทเพราะอาศัยแต่เจตนาดีและเงินมหาศาลความเข้าใจธรรมชาติของการก่อตัวเองของชุมชนเข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญถ้าช่วยกันทำความเข้าใจก็จะเกิดอานิสงฆ์
มหาศาล ที่ทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากสภาวะวิกฤต
- ประเวศ วะสี 24 มิถุนายน 2544 -

ปรัชญา
ปรัชญาของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ๑) เสริมสร้างสำนึกความเป็นชุมชนและท้องถิ่น๒) ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคต และจัดการหมู่บ้านและชุมชนด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเอง๓) เกื้อกูลประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้านและชุมชน๔) เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน ราชการ เอกชนและประชาสังคม๕) กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และพัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐาน

วัตถุประสงค์กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
๑) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน สำหรับการลงทุน
• พัฒนาอาชีพ สร้างงาน
• สร้างรายได้ หรือ เพิ่มรายได้
• ลดรายจ่าย
• บรรเทาเหตุฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วน
๒) ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถ
• จัดระบบเงินกองทุน
• บริหารจัดการเงินกองทุน
๓) เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตัวเองของหมู่บ้านและชุมชนเมือง
• การเรียนรู้
• การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม
• เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง
๔) กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก
• เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
๕) เกิดศักยภาพ / ความเข้มแข็งของประชาชนในหมู่บ้าน / ชุมชนเมือง
• เศรษฐกิจ
• สังคม

ศึกษาเพิ่มเติม > http://www.villagefund.or.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น